เข้าใจ Buoyancy รูปสวยๆก็ตามมา

อยากมีรูปสวยๆ ใต้น้ำไม่ยาก นอกจากจะรู้มุมถ่ายภาพแล้วต้องมี Buoyancy(การลอยตัว) ที่ดีกันด้วยนะครับ

Buoyancy หรือ การลอยตัว เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับนักดำน้ำทุกคน การที่เรารักษาระดับการลอยตัวของเราไว้ในจุดที่เป็นกลางได้นั้น
จะทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวร่างกายใต้น้ำได้อย่างคล่องแคล่วและสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีกับเหล่าปะการังและสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล เพราะการลอยตัวที่ดี สามารถช่วยลดอัตราการเกิดความเสียหายของปะการัง ที่เกิดจากการชน กระแทก หรือโดนฟินของเราๆ จากการควบคุมการลอยตัวของเราที่ไม่ดีนักได้นั่นเองครับ

หลายๆครั้ง ที่มือใหม่ อาจจะยังคงไม่เข้าใจและรู้สึกยากมากกับการปรับสมดุลให้การลอยตัวของตัวเองเป็นกลาง
เรามาทำความเข้าใจง่ายๆ กันดีกว่าครับ

1. น้ำหนัก/ตะกั่วดำน้ำ ควรเลือกน้ำหนักที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่มากเกินไป และไม่น้อยจนทำให้เสี่ยงต่อการลอยขึ้นตลอดเวลา

2. การควบคุม BCD มีผลกับการลอยตัวที่ดี เราควรเติมและปล่อยลมออกจาก BCD ทีละเล็กน้อย และคอยดูการเปลี่ยนแปลงการลอยตัวของเราก่อนที่จะเติมหรือปล่อยในครั้งต่อไป ไม่ควรเติมลมเข้า BCD ครั้งละมากๆ เพราะจะทำให้เสี่ยงกับการลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วและเป็นอันตรายได้นั้นเองครับ

3. การควบคุมการหายใจ การเข้าใจจังหวะของลมหายใจมีผลอย่างมากกับการลอยตัว ถ้าเราหายใจเข้าเป็นการเติมอากาศเข้าสู่ปอด และปอดจะทำหน้าที่คล้ายๆ ลูกโป่งช่วยทำให้เราสามารถลอยตัวขึ้นมาได้เล็กน้อย แต่เมื่อเราหายใจออก ปอดก็จะมีอากาศน้อยลงและสามารถทำให้เราจมลงได้เช่นกัน

4. ท่าทาง การดำน้ำควรจัดท่าทางให้อยู่ในลักษณะขนานไปกับพื้น และขาก็ควรไม่อยู่ต่ำกว่าแนวลำตัว เก็บมือให้เป็นระเบียบ ไม่ควรกางมือออก
เพราะหากเราเคลื่อนตัวไปข้างหน้า หรือตีฟินอยู่นั้นโดยที่ไม่ระวังจะทำให้ฟินหรือร่างกายเราไปกระแทกกับปะการังได้ง่ายขึ้นครับ

ดังนั้นเมื่อเราต้องการจะถ่ายรูปคู่ปะการังสวยๆ หรือสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อย หรือขณะดำน้ำดูปะการังเพลินๆ ควรควบคุม Buoyancy หรือการลอยตัวให้ดีกันด้วยนะครับ

แอดมิน ครูดิว

 

 

× Contact Us